การมีน้ำใจไมตรีต่อผู้อื่นนั้น ไม่ใช่สิ่งที่ฝืนธรรมชาติของมนุษย์ เพราะมนุษย์มีเมตตากรุณาเป็นพื้นอยู่แล้วในจิตใจ เมตตากรุณาเป็นส่วนหนึ่งของมโนธรรมที่อยู่ในใจเราทุกคน การทำความดี นึกถึงผู้อื่น เอื้อเฟื้อเกื้อกูลเพื่อนมนุษย์ ช่วยเสริมสร้างมโนธรรมของเราให้เข้มแข็งขึ้น และทำให้มีพลังในการทำความดีมากขึ้น
กล่าวอีกนัยหนึ่ง ความดีนั้นขยายหัวใจของเราให้ใหญ่ขึ้น ขณะเดียวกันก็ทำให้อัตตาของเราเล็กลง จึงมีพื้นที่เพิ่มมากขึ้นสำหรับเปิดรับความสุข ในทางตรงข้ามคนที่นึกถึงแต่ตัวเองนั้น หัวใจจะเล็กลง ขณะที่อัตตาใหญ่ขึ้น จึงเหลือที่ว่างน้อยลงสำหรับความสุข คนที่เห็นแก่ตัวจึงสุขยากแต่ทุกข์ง่าย ถ้าอยากเป็นคนสุขง่ายทุกข์ยากก็ควรหมั่นทำความดี
อย่างไรก็ตามอุปสรรคสำคัญที่มักขัดขวางไม่ให้เราทำความดี ก็คืออัตตาหรือความเห็นแก่ตัว อัตตานั้นรู้ว่าหากไปรับรู้ความทุกข์ของผู้อื่นเมื่อใดเราจะรู้สึกเป็นทุกข์และอยู่เฉยไม่ได้ ต้องเข้าไปช่วยเหลือเขา ซึ่งหมายถึงการที่ต้องเสียเวลา เสียเงิน หรือเหนื่อยยาก นั่นเป็นเรื่องที่อัตตายอมไม่ได้ เพราะอัตตานั้นอยาก “เอา” แต่ไม่ต้องการ “ให้”
ดังนั้นอัตตาจึงมักหาอุบายขัดขวางเราไม่ให้ทำเช่นนั้น วิธีการที่มักใช้กันก็คือปิดหูปิดตา เบือนหน้าหนี หรือแกล้งเป็นมองไม่เห็น เช่น ถ้านั่งรถเมล์ก็หันหน้าไปทางหน้าต่าง หรือถ้านั่งรถไฟฟ้าก็แกล้งหลับหรือจดจ้องอยู่กับหนังสือ ทั้งนี้ก็เพื่อจะได้ไม่ต้องไปรับรู้ว่ามีเด็ก คนแก่ หรือผู้หญิงท้องกำลังยืนอยู่ใกล้ ๆ ที่นั่งของตน
ด้วยเหตุนี้จึงไม่น่าแปลกใจที่เราจะพบเห็นคนเป็นลมหรือฟุบอยู่บนทางเท้าท่ามกลางผู้คนนับร้อย ๆ ที่เดินผ่านไปมาโดยไม่มีใครเข้าไปช่วยเหลือเลย คนเหล่านี้ใช่ว่าจะมองไม่เห็นว่าเกิดอะไรขึ้น แต่ทันทีที่เห็นก็เบือนหน้าหนีทันที หรือไม่ก็อ้างเหตุผลต่าง ๆ เพื่อจะได้ไม่ต้องหยุดช่วย เหตุผลที่มักอ้างกันก็คือ “ถึงฉันไม่ช่วย คนอื่นก็ช่วย” หรือไม่ก็ “ฉันกำลังรีบ มีธุระด่วน”
นักเขียนผู้หนึ่งเล่าให้ฟังว่า คราวหนึ่งระหว่างที่เดินผ่านย่านธุรกิจที่จอแจคับคั่ง กลางเมือง ได้เห็นชายผู้หนึ่งนอนฟุบอยู่กลางทางเท้าใกล้สถานีรถใต้ดิน เนื้อตัวมอมแมมและผอมโทรมคล้ายคนจรจัด อาการเหมือนคนป่วย แต่ทั้ง ๆ ที่มีผู้คนเดินผ่านไปผ่านมามากมาย แต่ไม่มีใครสนใจเลย เขาจึงหยุดและก้มลงถามชายผู้นั้นว่าต้องการความช่วยเหลืออะไรบ้าง ที่น่าสนใจก็คือพอเขาทำเช่นนั้น ก็เริ่มมีคนอื่นหยุดเข้าไปช่วยชายผู้นั้นด้วย จากหนึ่งคน เป็นสองคน สามคน สี่คน ทีนี้ต่างคนต่างก็กุลีกุจอไปหาซื้อน้ำและอาหารให้เขา บางคนก็ไปตามเจ้าหน้าที่สถานีมาช่วย จนกลายเป็น “ไทยมุง”ขึ้นมาทันที
คนนับร้อยที่เดินผ่านคนป่วยดูเผิน ๆ เหมือนเป็นคนไร้น้ำใจ แต่แท้จริงหาเป็นเช่นนั้นไม่ เพราะทันทีที่เห็นคนหนึ่งเข้าไปช่วยคนป่วย อีกหลายคนก็หยุดแล้วเข้าไปช่วยทันที คำถามคือทำไมทีแรกคนเหล่านี้เดินผ่าน คำตอบก็คือเพราะเขาปล่อยให้อัตตาครองใจ จึงนึกถึงแต่ตัวเอง หากไม่เบือนหน้าหนีก็ต้องสรรหาเหตุผลเพื่อเป็นข้ออ้างในการนิ่งดูดาย เห็นได้ชัดว่าในใจของคนเหล่านี้มโนธรรมได้พ่ายแพ้แก่อัตตาไปแล้ว
คำถามต่อมาก็คืออะไรเป็นเหตุให้หลายคนตรงเข้าไปช่วยผู้ป่วยทันทีที่เห็นคนหนึ่งทำเช่นนั้น คำตอบก็คือความรู้สึกผิด หลายคนรู้สึกผิดหากเดินผ่านไปโดยไม่ทำอะไรเลย ความรู้สึกผิดดังกล่าวเกิดขึ้นจากมโนธรรมหรือความรู้สึกผิดชอบชั่วดี ทีแรกนั้นมโนธรรมอ่อนแรงเพราะถูกอัตตาบดบัง แต่เมื่อเห็นผู้อื่นทำความดี มโนธรรมก็ถูกกระตุ้นให้กลับมามีพลังจนเอาชนะอัตตา อย่างไรก็ตามปฏิเสธไม่ได้ว่าการทำความดีตามผู้อื่นนั้นมีอัตตาเจือปนอยู่ด้วย เพราะยังมีความคิดในเชิงเปรียบเทียบอยู่ว่า“คนอื่นยังช่วย ทำไมฉันไม่ช่วย”
ในทำนองเดียวกันเวลาสามีตบตีภรรยาอยู่กลางถนน ผู้คนที่เห็นเหตุการณ์นับสิบกลับอยู่นิ่งเฉย ปล่อยให้ผู้หญิงร้องด้วยความเจ็บปวด แต่ทันทีที่มีใครสักคนเข้าไปห้าม อีกหลายคนที่เคยยืนดูอยู่ก็จะเข้าไปช่วยห้ามด้วย คนเหล่านั้นไม่สามารถอยู่นิ่งเฉยได้ต่อไปหากเห็นใครสักคนกล้าทำสิ่งที่สมควรทำ
อัตตาพยายามขัดขวางไม่ให้เราทำความดี มันฉลาดในการหาเหตุผลเพื่อสยบมโนธรรม เช่น อ้างว่าใคร ๆ เขาก็เมินเฉยกันทั้งนั้น หรืออ้างว่าเป็นกรรมของสัตว์ กรรมใครกรรมมัน ฯลฯ บางครั้งอัตตาก็เพียงแต่กดมโนธรรมเอาไว้ไม่ให้ทำงาน เคยมีคนถามฆาตกรผู้หนึ่งว่า ทำไมเขาถึงฆ่าคนได้มากมาย ไม่สงสารเห็นใจเหยื่อบ้างหรือ เขาตอบว่า “ผมต้องปิดความรู้สึกส่วนนั้น(ความเห็นอกเห็นใจ)ไว้ก่อน ไม่งั้นผมฆ่าเขาไม่ได้หรอก”
ชีวิตจิตใจของเราเปรียบเสมือนกับสมรภูมิแห่งการต่อสู้ระหว่างอัตตากับมโนธรรม ธรรมชาติทั้งสองส่วนต่างขับเคี่ยวเพื่อครองใจเรา อะไรจะมีชัยชนะขึ้นอยู่กับว่าเราดำเนินชีวิตอย่างไร หากเราพยายามทำความดี นึกถึงสิ่งดีงาม มโนธรรมก็จะเข้มแข็ง แต่ถ้าเรานึกถึงแต่ตัวเอง ทำเพื่อตัวเองอยู่เสมอ อัตตาก็จะกล้าแกร่ง มิตรสหายหรือชุมชนแวดล้อมก็มีส่วนสำคัญ การมีชีวิตแวดล้อมด้วยกัลยาณมิตร ย่อมทำให้มโนธรรมเจริญงอกงาม แต่หากอยู่ท่ามกลางผู้คนที่เห็นแก่ตัว หรือหมกมุ่นอยู่กับสื่อที่กระตุ้นความโลภ อัตตาก็จะครอบงำใจได้ง่าย
น่าเป็นห่วงก็ตรงที่โลกปัจจุบันนั้นล้วนแต่โน้มเอียงไปในทางกระตุ้นอัตตาและทำให้มโนธรรมสงบงัน วัฒนธรรมบริโภคนิยมเป็นตัวอย่างหนึ่งที่เสริมพลังให้แก่อัตตาอย่างเต็มที่ แต่สิ่งหนึ่งที่มีอิทธิพลมากหากพูดถึงกันน้อย ก็คือชีวิตที่เร่งรีบ ยิ่งเร่งรีบมากเท่าไร เราก็สนใจคนอื่นน้อยลงเท่านั้น แม้คนนั้นจะทุกข์อยู่ต่อหน้าก็ตาม
เคยมีการทดลองกับนักศึกษากลุ่มหนึ่ง โดยมีการมอบหมายให้นักศึกษาไปพูดหน้าชั้นเรียนซึ่งอยู่อีกตึกหนึ่ง ระหว่างที่ทุกคนเดินไปยังตึกนั้น ก็จะเจอชายผู้หนึ่งนั่งทรุดอยู่ริมถนน ไอหอบและร้องครวญ สิ่งที่ผู้ทดลองอยากรู้ก็คือ จะมีใครบ้างที่หยุดเดินและเข้าไปช่วยชายผู้นั้น
ในการทดลองดังกล่าว ก่อนที่นักศึกษาจะเดินไปที่ตึกนั้น ทุกคนได้รับคำสั่งหรือเงื่อนไขต่างกัน เช่น บางคนก็ได้รับการบอกว่า “คุณมีเวลาเหลืออีกไม่กี่นาที ต้องรีบไปแล้วล่ะ” แต่บางคนก็ได้รับการบอกว่ายังมีเวลาเหลืออยู่อีกมาก “แต่ถ้าคุณไปตอนนี้เลยก็ดีเหมือนกัน”
ผลการทดลองก็คือ ในบรรดานักศึกษาที่เดินจ้ำเพราะอาจารย์บอกว่าสายแล้วนั้น มีเพียงร้อยละ ๑๐ เท่านั้นที่เข้าไปช่วย “ผู้ป่วย” ขณะที่นักศึกษาที่ยังพอมีเวลาอยู่นั้น ร้อยละ ๖๓ หยุดเดินและเข้าไปช่วย
การทดลองดังกล่าวพบว่าปัจจัยสำคัญที่กำหนดว่านักศึกษาคนใดจะช่วยผู้ป่วยหรือไม่ อยู่ที่ว่าเขาอยู่ในสถานการณ์ที่ต้องเร่งรีบหรือไม่ คนที่ต้องเร่งรีบส่วนใหญ่เดินผ่าน ขณะที่คนซึ่งไม่เร่งรีบกลับเข้าไปช่วย
ในโลกที่เร่งรีบผู้คนจึงมีน้ำใจกันน้อยลง อย่างไรก็ตามถึงรอบตัวจะเร่งรีบ แต่เราสามารถใช้ชีวิตให้ช้าลงได้ ด้วยการลดกิจกรรมต่าง ๆ ที่ไม่จำเป็นลงเสียบ้าง หรือทำให้น้อยลง(เช่น เที่ยวห้าง หรือดูโทรทัศน์) ชีวิตที่ช้าลงนอกจากจะทำให้เราเห็นอกเห็นใจกันมากขึ้นแล้ว ยังทำให้เรามีสุขภาพดีขึ้น รวมทั้งมีเวลาให้แก่ตนเองมากขึ้น ไม่แปลกแยกหรือขัดแย้งกับตัวเองดังที่มักเกิดขึ้นกับผู้คนเวลานี้
พระไพศาล วิสาโล
วารสารวัฒนธรรมไทย
ฉบับเดือนพฤษภาคม-มิถุนายน ๒๕๕๔