ตกเย็นวันหนึ่ง หลวงพ่อสั่งให้พระญาณธมฺโมเข้าไปถวายการนวดที่กุฏิเป็นการส่วนตัว พระญาณธมฺโมรู้สึกตื่นเต้นมาก เพราะโอกาสที่จะได้อยู่ใกล้ชิดหลวงพ่อชาหายาก ขณะที่ถวายการนวดไปด้วยจิตใจฟูฟ่องอยู่นั้น อย่างไม่ทันรู้ตัว หลวงพ่อชาได้ถีบเปรี้ยงเข้าที่ยอดอกของพระอาจารย์ญาณธมฺโมจนล้มกระแทก ท่ามกลางความมึนงงสงสัย ตกใจว่าเกิดอะไรขึ้น หลวงพ่อชาได้กล่าวสอนขึ้นว่า “จิตใจไม่มั่นคง พอไม่ได้ดังใจก็ขัดเคืองหงุดหงิด เมื่อได้ตามปรารถนาก็ฟูฟ่อง”“กินข้าวทำไม” “กินข้าวอย่างไร” “กินข้าวแล้วเกิดผลอย่างไร”
พระญาณธมฺโมถึงกับร้องไห้ออกมาเพราะซาบซึ้งในบุญคุณของท่าน ปรารภกับตนเองในใจว่า “หลวงพ่อมีเมตตามากที่ชี้กิเลสของเรา ไม่เช่นนั้นเราคงจะมืดบอดมองไม่เห็น คงเป็นคนหลงอารมณ์ไปอีกนาน” ดังที่กล่าวมานี้เป็นแนวคิดหลักของหลวงพ่อชา คือความมั่นคงไม่ไหลไปตามความรู้สึกต่างๆ ของตน
หลวงพ่อชาเห็นว่าจุดหมายของเราคือการพ้นทุกข์โดยใช้ศีล สมาธิ ปัญญา เราควรมองเข้าหาตัวเอง ดูธรรมชาติที่เกิดขึ้น และให้รู้เท่าทัน ไม่ปล่อยให้จิตไหลไปตามกิเลสและสิ่งเร้าภายนอก
ท่านเคยตอบคำถามผู้ที่ถามว่า ปฏิบัติธรรมทำไม ปฏิบัติธรรมอย่างไร และปฏิบัติธรรมแล้วเกิดผลอย่างไร ว่า กินข้าวทำไม กินข้าวอย่างไร กินข้าวแล้วเกิดผลอย่างไร ท่านว่าต่อว่า ธรรมะก็เหมือนกับการกินข้าว เรากินเพราะหิวหรือเพราะเกิดทุกข์ และเพื่อให้เกิดผลคืออิ่มและดับทุกข์ได้หลวงพ่อชาได้ตั้งตนเป็นแบบอย่างที่ดีแก่หมู่คณะด้วยยึดหลักคำสอนของพระพุทธเจ้าที่ว่า “ทำตนให้ตั้งอยู่ในคุณอันสมควรเสียก่อน แล้วจึงสอนคนอื่นทีหลังจึงจักไม่เป็นบัณฑิตสกปรก” ไม่ว่าจะทำกิจวัตรอันใด เช่น กวาดวัด จัดที่ฉัน ล้างบาตร นั่งสมาธิ ตักน้ำ ทำวัตร สวดมนต์ เดินจงกรม หลวงพ่อชาลงมือทำเป็นแบบอย่างแก่ศิษย์ตลอด โดยถือหลักว่า “สอนคนด้วยการทำให้ดู ทำเหมือนพูด พูดเหมือนทำ” ด้วยเหตุนี้ ศิษย์และญาติโยมจึงเกิดความเลื่อมใสเคารพยำเกรงในตัวท่านมาก